การจัดการเรียนการสอนแบบ Scaffolding เป็นการจัดการเรียนการสอนเหมือนกับการทำนั่งร้านที่คนงานก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้สูงขึ้นไปในแนวตั้ง โดยครูหรือผู้สอนเปรียบเสมือนคนสร้างนั่งร้าน ซึ่งต้องมีฐานที่ทั้งแข็งแรงและมั่นคง ดังนั้นบทเรียนหรือหลักสูตรหรือหัวข้อที่จะสอนต้องมีความลุ่มลึกทั้งทางด้านแนวราบและแนวดิ่ง นั่นคือ มีทั้งความง่ายเพื่อเป็นฐาน และความยากเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหรือการประยุกต์ใช้ อีกทั้งต้องสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ ระดับความสูงต่ำและขนาดความกว้างยาวได้ตามความต้องการ
💎 การสอนแบบ Scaffolding มี 3 ขั้นได้แก่ 💎
✅ 1. การเลือกรูปแบบ (model)
ขั้นตอนการเลือกรูปแบบเป็นการสร้างความสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ อาจใช้วิธีการสาธิต การปฎิบัติหรือทำให้ดู การบรรยาย การยกตัวอย่าง การใช้กรณีศึกษา การใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้สังเกตและวิเคราะห์ตาม
✅ 2. การแยกย่อย (breakdown)
ขั้นตอนการแยกย่อยเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เป็นการแตกย่อยกิจกรรมให้เป็นงานย่อย ๆ เพื่อแจกแจงงานให้เป็นขั้นตอนไม่ซับซ้อน ลดขนาดของงานลงจากงานที่มีลักษณะง่ายไปหายาก เช่น ผู้สอนเป็นผู้สร้างจุด (dots) หรือผู้ที่คอยให้การช่วยเหลือ และผู้เรียนเป็นผู้เชื่อมจุด (connecting the dots) ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานที่ผู้เรียนไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตนเอง โดยการช่วยเหลือจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและลดลง ในขณะที่ผู้เรียนจะค่อย ๆ เพิ่มความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยตนเองมากขึ้น
✅ 3. การให้กำลังใจ (encourage) หรือการให้ข้อมูลป้อนกลับ
ขั้นตอนการชมเชยและให้กำลังใจ ทางกลุ่มนำเสนอว่าควรให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนว่าชอบ “การนำเสนองาน” ของใครมากที่สุดเพียงกลุ่มเดียว แล้วจัดเรียงลำดับคะแนนตามความถี่ที่ชอบ แล้วให้ผู้สอนให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงสำหรับกลุ่มที่ได้คะแนนน้อย
วิธีการสอนแบบ Scaffolding ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการดึงดูดความสนใจให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนมากยิ่งขึ้น ลองนำเทคนิคดี ๆ แบบนี้ปรับใช้กับการสอนดูนะคะ
🌐 ขอบคุณข้อมูล : สุเนตร สืบค้า